ปรัชญา ฯลฯ


 ปรัชญา แนวคิด หลักการและกระบวนการทำงานพัฒนาชุมชน
 
1. ปรัชญาพัฒนาชุมชน
        พัฒน์ บุณยรัตพันธุ์ (2517 : 1 - 2) ได้กล่าวถึงหลักปรัชญามูลฐานของงานพัฒนาชุมชน ไว้ดังนี้
        1. บุคคลแต่ละคนย่อมมีความสําคัญและมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน จึงมีสิทธิอันพึงได้รับการปฏิบัติด้วยความยุติธรรม และอย่างบุคคลมีเกียรติในฐานะที่เป็นมนุษย์ปุถุชนอันหนึ่ง
        2. บุคคลแต่ละคนย่อมมีสิทธิ และสามารถที่จะกําหนดวิถีการดํารงชีวิตของตน ไปในทิศทางที่ตนต้องการ
        3. บุคคลแต่ละคนถ้าหากมีโอกาสแล้ว ย่อมมีความสามารถที่จะเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงทัศนะ ประพฤติปฎิบัติและพัฒนาขีดความสามารถให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงขึ้นได้
        4. มนุษย์ทุกคนมีพลังในเรื่องความคิดริเริ่ม ความเป็นผู้นํา และความคิดใหม่ๆซึ่งซ่อนเร้นอยู่ และพลังความสามารถเหล่านี้สามารถเจริญเติบโต และนําออกมาใช้ได้ถ้าพลังที่ซ่อนเร้นเหล่านี้ได้รับการพัฒนา
        5. การพัฒนาพลังและขีดความสามารถของชุมชนในทุกด้านเป็นสิ่งที่พึ่งปรารถนา และมีความสําคัญยิ่งต่อชีวิตของบุคคล ชุมชน และรัฐ
         ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าปรัชญาของการพัฒนาชุมชนนั้น
         ประการแรก ตั้งอยู่บนรากฐานอันมั่นคงแห่งความศรัทธาในตัวคนว่าเป็นทรัพยากรที่มีความหมายและสําคัญที่สุด มนุษย์ทุกคนมีความสามารถ
         ประการที่สอง การพัฒนาชุมชน ก็คือ ความศรัทธาในเรื่องความยุติธรรมของสังคม (Social Justice) การมุ่งขจัดความขัดแย้งและความเหลื่อมล้าต่าสูงที่เห็นได้ชัดในหมู่มวลชนนั้น เป็นเรื่องที่อารยะสังคมพึงยึดมั่น
         ประการสุดท้าย ความไม่รู้ ความดื้อดึง และการใช้กําลังบังคับเป็นอุปสรรคที่สําคัญยิ่งต่อความสําเร็จของการพัฒนา และความเจริญรุดหน้าจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยวิธีการให้การศึกษาเท่านั้น การให้การศึกษาและให้โอกาสจะช่วยดึงพลังซ่อนเร้นในตัวคนออกมาใช้ให้เป็นประโยชน?ต่อส่วนรวม และการพัฒนาจะมีประสิทธิภาพได้ก็จะต้องยึดหลักการรวมกลุ่ม และการทํางานกับกลุ่ม เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม การอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และทํางานรวมกันเป็นกลุ่ม จะช่วยให้คนได้เจริญเติบโตโดยเร็วที่สุด
        ยุวัฒน์ วุฒิเมธี (2534 : 5) ได้กล่าวถึงปรัชญาของการพัฒนาชุมชน ประกอบด้วย
        1. การพัฒนาชุมชนนั้นให้ความศรัทธา เชื่อมั่นในตัวบุคคลว่าเป็นทรัพยากร (Human Resources) ที่มีความสําคัญที่สุดในความสําเร็จของการดําเนินงานทั้งปวง และเชื่ออย่างแน่วแน่ว่ามนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะพัฒนาตัวเองได?ตามขีดความสามารถทางกายภาพของตน หากโอกาสอํานวยและมีผู้คอยชี้แนะที่ถูกทาง
        2. การพัฒนาชุมชนเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนปรารถนา ต้องการความยุติธรรมที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคม (Social Justice) ต้องการอยู่ในสังคมด้วยความสุขกาย สบายใจ (Social Satisfaction) และต้องการอยู่ร่วมในสังคมให้เป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย (Social Acceptability)
        ทนงศักดิ์ คุ้มไข่น้ำ และคณะ (2534 : 6) ได้กล่าวถึงปรัชญาการพัฒนาชุมชน ไว้ว่า
        การพัฒนาชุมชนมีหลักปรัชญาอันเป็นมูลฐานสําคัญ ดังนี้
        1. มนุษย์ทุกคนมีพลังในเรื่องความคิดริเริ่ม และความเป็นผู้นําซ่อนเร้นอยู่ในตัว พลังเหล่านี้สามารถเจริญเติบโต และนําออกมาใช้ได้ ถ้าได้รับการพัฒนา
        2. บุคคลและคนถ้าหากมีโอกาสแล้ว ย่อมมีความสามารถที่จะเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงทัศนะ ประพฤติปฏิบัติและพัฒนาขีดความสามารถให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงขึ้นได้
        3. บุคคลแต่ละคนย่อมมีความสําคัญและมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน จึงมีสิทธิอันพึงได้รับการปฏิบัติด้วยความยุติธรรมอย่างบุคคลมีเกียรติในฐานะที่เป็นมนุษย์ปุถุชนผู้หนึ่ง
        4. บุคคลแต่ละคนย่อมมีสิทธิ และสามารถที่จะกําหนดวิถีการดํารงชีวิตของตนไปในทิศทางที่ตนต้องการ
        5. การพัฒนาพลังและขีดความสามารถของคนในชุมชนทุกด้าน เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา และมีความสําคัญยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกคนและชุมชนโดยส่วนรวม
        กรมการพัฒนาชุมชน (2538) ได้กล่าวสรุป ปรัชญางานพัฒนาชุมชน มีความเชื่อว่า
        1. มนุษย์ทุกคนมีเกียรติและศักดิ์ศรีในความเป็นคน
        2. มนุษย์ทุกคนมีความสามารถ หรือมีศักยภาพ
        3. ความสามารถของมนุษย์สามารถพัฒนาได้ถ้ามีโอกาส

2. แนวความคิดพื้นฐานในการพัฒนาชุมชน
        การศึกษาแนวความคิดพื้นฐานของงานพัฒนาชุมชนเป็นสิ่งสําคัญที่จะทําให้พัฒนากรสามารถทํางานกับประชาชนได้อย่างถูกต้อง และทําให้งานมีประสิทธิภาพ แนวคิดพื้นฐาน ในการพัฒนาชุมชนในระดับการปฏิบัติ มีดังนี้
        1. การมีส่วนร่วมของประชาชน (People Participation) เป็นหัวใจของงานพัฒนาชุมชน โดยยึดหลักของการมีส่วนร่วมที่ว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจวางแผนงาน การปฏิบัติการและร่วมบํารุงรักษา
        2. การช่วยเหลือตนเอง (Aided Self - Help) เป็นแนวทางในการพัฒนาที่ยึดเป็นหลักการสําคัญประการหนึ่ง คือ ต้องพัฒนาให้ประชาชนพึ่งตนเองได้มากขึ้น โดยมีรัฐคอยให้การช่วยเหลือ สนับสนุน ในส่วนที่เกินขีดความสามารถของประชาชน ตามโอกาสและหลักเกณฑ?ที่เหมาะสม
        3. ความคิดริเริ่มของประชาชน (Initiative) ในการทํางานกับประชาชนต้องยึดหลักการที่ว่า ความคิดริเริ่มต้องมาจากประชาชน ซึ่งต้องใช?วิถีแห่งประชาธิปไตย และหาโอกาสกระตุ้นให้การศึกษา ให้ประชาชนเกิดความคิด และแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอันเป็น ประโยชน์ต่อหมู่บ้าน ตําบล
        4. ความต้องการของชุมชน (Felt - Needs) การพัฒนาชุมชนต้องให้ประชาชน และองค์กรประชาชนคิดและตัดสินใจบนพื้นฐานความต้องการของชุมชนเอง เพื่อให้เกิดความคิดที่ว่างานเป็นของประชาชน และจะช่วยกันดูแลรักษาต่อไป
        5. การศึกษาภาคชีวิต (Life - Long Education) งานพัฒนาชุมชนถือเป็นกระบวนการให้การศึกษาภาคชีวิตแก่ประชาชน เพื่อนําไปสู่การพัฒนาคน การให้การศึกษา ต้องให้การศึกษาอย่างต่อเนื่องกันไป ตราบเท่าที่บุคคลยังดํารงชีวิตอยู่ในชุมชน

3. หลักการดําเนินงานพัฒนาชุมชน
        จากปรัชญาและแนวคิดพื้นฐานของการพัฒนาชุมชนได้นํามาใช้เป็นหลักในการดําเนินงานพัฒนาชุมชน ดังต่อไปนี้
        1. ยึดหลักความมีศักดิ์ศรี และศักยภาพของประชาชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้มากที่สุด นักพัฒนาต้องเชื่อมั่นว่าประชาชนนั้นมีศักยภาพที่จะใช้ความรู้ ความสามารถที่จะปรับปรุงพัฒนาตนเองได้ จึงต้องให้โอกาสประชาชนในการคิด วางแผน เพื่อแก้ปัญหาชุมชนด้วยตัวของเขาเอง นักพัฒนาควรเป็นผู้กระตุ้น แนะนํา ส่งเสริม
        2. ยึดหลักการพึ่งตนเองของประชาชน นักพัฒนาตองยึดมั่นเป็นหลักการสําคัญว่าต้องสนับสนุนให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ โดยการสร้างพลังชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชน ส่วนรัฐบาลจะช่วยเหลือ สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และช่วยเหลือในส่วนที่เกินขีดความสามารถของประชาชน
        3. ยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมคิด ตัดสินใจ วางแผน ปฏิบัติตามแผน และติดตามประเมินผลในกิจกรรม หรือโครงการใด ๆ ที่จะทําในชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการดําเนินงาน อันเป็นการปลูกฝังจิตสํานึกในเรื่องความเป็นเจ้าของโครงการ หรือกิจกรรม
        4. ยึดหลักประชาธิปไตย ในการทํางานพัฒนาชุมชนจะต้องเริ่มด้วยการพูดคุย ประชุม ปรึกษาหารือร่วมกัน คิดร่วมกัน ตัดสินใจ และทําร่วมกัน รวมถึงรับผิดชอบร่วมกัน ภายใต้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย
         องค์การสหประชาชาติ ได้กําหนดหลักการดําเนินงานพัฒนาชุมชนไว้ 10 ประการ คือ
         1. ต้องสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
         2. ต้องเป็นโครงการเอนกประสงค์ที่ช่วยแก้ปัญหาได้หลายด้าน
         3. ต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติไปพร้อม ๆ กับการดําเนินงาน
         4. ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
         5. ต้องแสวงหาและพัฒนาให้เกิดผู้นําในท้องถิ่น
         6. ต้องยอมรับให้โอกาสสตรี และเยาวชนมีส่วนร่วมในโครงการ
         7. รัฐต้องเตรียมจัดบริการให้การสนับสนุน
         8. ต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพทุกระดับ
         9. สนับสนุนให้องค์กรเอกชน อาสาสมัครต่างๆ เข้ามีส่วนร่วม
         10.ต้องมีการวางแผนให้เกิดความเจริญแก่ชุมชนที่สอดคล้องกับความเจริญในระดับชาติด้วย 

4. กระบวนการทํางานพัฒนาชุมชน 
        การปฏิบัติงานพัฒนาชุมชนเป็นงานที่ต้องทําอย่างต่อเนื่อง เป็นกระบวนการ ดังนี้
        1. การศึกษาชุมชน เป็นการเสาะแสวงหาข้อมูลต่าง ๆ ในชุมชน เช่น ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และสภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชน เพื่อทราบปัญหาและความต้องการของชุมชนที่แท้จริง วิธีการในการศึกษาชุมชนอาจต้องใช้หลายวิธีประกอบกัน ทั้งการสัมภาษณ์ การสังเกต การสํารวจ และการศึกษาข้อมูลจากเอกสารต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชนด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด กลวิธีที่สําคัญที่นักพัฒนาต้องใช้ในขั้นตอนนี้ คือ การสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชน เพราะถ้าหากปราศจากสัมพันธภาพที่ดีระหว่างพัฒนากรกับชาวบ้านแล้วเป็นการยากที่จะได้รู้และเข้าใจปัญหาความต้องการจริงๆ ของชาวบ้าน ความสัมพันธ์อันดี จนถึงขั้นความสนิทสนมรักใคร่ ศรัทธา จึงเป็นสิ่งที่จําเป็นที่จะต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน
        2. การให้การศึกษาแก่ชุมชน เป็นการสนทนา วิเคราะห์ปัญหาร่วมกับประชาชน เป็นการนําข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากขั้นตอนการศึกษาชุมชน มาวิเคราะห์ถึงปัญหาความต้องการและ สภาพที่เป็นจริง ผลกระทบ ความรุนแรง และความเสียหายต่อชุมชน กลวิธีที่สําคัญในขั้นตอนนี้ คือ การกระตุ้นให?ประชาชนได้รู้ เข้าใจ และตระหนักในปัญหาของชุมชน ซึ่งในปัจจุบันก็คือ การจัดเวทีประชาคม เพื่อค้นหาปัญหาร่วมกันของชุมชน
        3. การวางแผน/โครงการ เป็นขั้นตอนให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ และกําหนดโครงการ เป็นการนําเอาปัญหาที่ประชาชนตระหนัก และยอมรับว่าเป็นปัญหาของชุมชนมาร่วมกัน หาสาเหตุ แนวทางแก้ไข และจัดลําดับความสําคัญของปัญหา และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจที่ จะแก้ไขภายใต้ขีดความสามารถของประชาชน และการแสวงหาความช่วยเหลือจากภายนอก กลวิธีที่สําคัญในขั้นตอนนี้ คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขปัญหา วิธีการวางแผน การเขียนโครงการ โดยใชเทคนิคการวางแผนแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วม
        4. การดําเนินงานตามแผนและโครงการ โดยมีผู้รับผิดชอบในการดําเนินการตามแผนและโครงการที่ได้ตกลงกันไว้ กลวิธีที่สําคัญในขั้นตอนนี้ คือ การเป็นผู้ช่วยเหลือ สนับสนุนใน 2 ลักษณะ คือ
            4.1 เป็นผู้ปฏิบัติงานทางวิชาการ เช่น แนะนําการปฏิบัติงาน ให้คําปรึกษาหารือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน
            4.2 เป็นผู้ส่งเสริมให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน
         5. การติดตามประเมินผล เป็นการติดตามความก้าวหน้าของงานที่กําลังดําเนินการตามโครงการ เพื่อการปรับปรุงแก้ไขปัญหา อุปสรรคที่พบได้อย่างทันท่วงที กลวิธีที่สําคัญในขั้นตอนนี้ คือ การติดตามดูแลการทํางานที่ประชาชนทํา เพื่อทราบผลความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรค แล้วนําผลการปฏิบัติงานตามโครงการ หรือกิจกรรมไปเผยแพร่เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบ สามารถกระทําได้โดย
            5.1 แนะนําให้ผู้นําท้องถิ่นหรือชาวบ้าน ติดตามผลและรายงานผลด้วย ตนเอง เช่น รายงานด้วยวาจา รายงานเป็นลายลักษณ์อักษร การจัดนิทรรศการ เป็นต้น
            5.2 พัฒนากรเป็นผู้รายงานผลการปฏิบัติงานด้วยตนเอง เช่น รายงานด้วยวาจาต่อผู้บังคับบัญชาและผ้เกี่ยวข้อง เสนอผลการปฏิบัติงานต่อที่ประชุม ทําบันทึกรายงาน ตามแบบฟอร์มต่างๆ ของทางราชการ

ที่มา : http://203.155.220.175/newweb/index.php?option=com_content&view=article&id=593:2013-06-25-10-38-32&catid=93:2013-05-21-01-39-03&Itemid=184

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตัวอย่างระเบียบกองทุนหมู่บ้าน ว่าด้วยการบริหารโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ

        คลิกดาวน์โหลด ตัวอย่างระเบียบกองทุนหมู่บ้าน ว่าด้วยการบริหารโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ